วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

ประวัติศาสตร์ชาวโรฮิงยาส์ ในพม่า




ถิ่นที่อยู่
ตอนเหนือของรัฐอารากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw

ศาสนา
อิสลาม

ภาษา
ภาษาอินดิค(Indic language) คล้ายกับภาษาเบงกาลีที่ใช้พูดในประเทศบังกลาเทศและอินเดีย (ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้พูดภาษามาลายูหรือภาษายาวีตามที่นักข่าวไทยบางสำนักซึ่งทำข่าวเรื่องโรฮิงยาส์อ้าง แต่พูดภาษาชิตตาโกเนี่ยน - Chittagonian คล้ายกับภาษาในพื้นที่ Chittagong ในประเทศบังกลาเทศ)

ประชากร
ประมาณ 7 แสนถึง 1.5 ล้านคนในรัฐอารากันที่มีประชากรมากถึง 3 ล้านคน

ประวัติศาสตร์
มีรายงานและงานวิจัยหลายส่วนที่ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นผู้คนที่อยู่ในตอนเหนือ รัฐอารากันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7-12 และได้นับถือศาสนาอิสลามเนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐอารากันมีพ่อค้า ชาวอาหรับเข้ามาค้าขายเป็นเวลายาวนาน

มุมมองของรัฐบาลพม่า
ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า ไม่สามารถแต่งงานได้ ถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเดินทางออกนอกเพื่อไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนมาก
นอกจากนี้ชุมชนชาวโรฮิงยาส์ยังได้รับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องโดยมีเหตุการณ์สำคัญในปี ค.ศ. 1962 1978 และ 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์หลบหนีภัยเข้าไปในบังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย เป็นหลัก โดยที่ประเทศรองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรด มาเลเซีย และประเทศไทย


สถานการณ์ในประเทศมาเลเซียและบังกลาเทศ
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์ในมาเลเซียมักจะได้รับการคุมขังเป็นระยะเวลาหลายเดือน ในค่ายกักกัน โดยไม่ได้อาหาร ยารักษาโรค หรือสภาพความเป็นอยู่ที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล บางกรณีได้รับการข่มขู่หรือซ้อมก่อนถูกส่งกลับตัวมาประเทศไทย ซึ่งมีหลาย ๆ ครั้งที่แม้แต่สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือทางกฎหมายได้
ในส่วนของบังกลาเทศ ในปี 1978 ประชาชนชาวโรฮิงยาส์มากกว่า 2 แสนคนลี้ภัยไปประเทศบังกลาเทศ หลังจาก ยุทธการกษัตริย์มังกร (Dragon King) โดยกองทัพทหารพม่าที่ทำขึ้น เพื่อ "กำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศ ซึ่งรวมถึงประชาชนและชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย" กระบวนการนี้มีนโยบายโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์จนนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายมัสยิดต่างในพื้นที่
ในช่วงปี 1992-1993 ประชากรโรฮิงยาส์อีกกว่า 250,000 คนหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศอีกระลอกซึ่งได้มีรายงานเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสถานการณ์การสังหารชาวโรฮิงยาส์อย่างเป็นระบบ (summary executions) การทรมาน และการข่มขืนในประเทศพม่า รวมถึงกรณีการถูกบังคับเป็นแรงงานเยี่ยงทาสโดยไม่ได้รับการค่าตอบแทนใดๆ โดยทหารพม่า
ในระหว่างปี 1992-1994 รัฐบาลบังกลาเทศได้ส่งตัวประชาชนโรฮิงยาส์มากกว่า 5 หมื่นคนกลับพม่าโดยการทำความเข้าใจระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลพม่า และล่าสุดนี้บ้านพักของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์กว่า 6,000 คนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ (Naff) ติดกับชายแดนพม่า กำลังถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่าเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ซึ่ง UNHCR ได้ประนามการดำเนินการครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำ "ที่ไม่มีมนุษยธรรมเนื่องจากไม่มีการหาทางออกให้กับประชาชนเหล่านี้เลย" และมีการรายงานหลายครั้งว่ารัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามไม่ให้ชาวโรฮิงยาส์ได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR (วันที่ 8 มีนาคม 2550)

ชาวโรฮิงยาส์ในประเทศไทย
มีประมาณ 10,000 ถึง 15,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนองและมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้มีการสำรวจประชาชนโรฮิงยาส์อย่างจริงจัง
มีการเข้าใจผิดๆ ว่าชาวโรฮิงยาส์พูดภาษามาลายูหรือเป็นกลุ่มนักรบรับจ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนแต่อย่างใด

ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และก้าวต่อไปของชาวโรฮิงยาส์
ชาวโรฮิงยาส์ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เรียกร้อง ประชาธิปไตยร่วมกับชาวพม่าทั่วไป และได้มีบทบาทในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องโรฮิงยาส์ยังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวในการนำขึ้นมาพูด คุยในเวทีในขบวนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็น "สากลนิยม" (internationalist) ในขบวนการประชาธิปไตยในพม่ายังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง เพราะในหมู่นักกิจกรรมและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรื่องพม่าในไทย ยังได้มีการผลักดันและเรียกร้องว่าประชาชนพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นระยะ เวลายาวนานระดับหนึ่งควรจะได้รับสัญชาติไทย (เป็นข้อเสนอที่ได้รับมาจากอนุสัญญาว่าด้วยการ ส่งเสริมการลดบุคคลไร้สัญชาติของสหประชาชาติ - Convention on the Reduction of Stateless โดยที่มีการเรียกร้องว่ารัฐจะต้องให้สัญชาติกับบุคคลที่เกิดในพื้นที่ของรัฐ โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ หรือ มีข้อเรียกร้องขอสัญชาติหลังจากอยู่ในรัฐ ๆ นั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ดูข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ - http://www.ohchr.org/english/law/statelessness.htm)

ข่าวเพิ่มเติม
21 กุมภาพันธ์ 2550 หนังสือพิมพ์มติชน ปีที่ 30 ฉบับที่ 10574 ได้ลงรายงานพิเศษ เรื่อง จับตา “ภัยความมั่นคงใหม่” “อาระกัน” “โรฮิงยา” ระวัง...เติมเชื้อไฟใต้ โดยทีมข่าวภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น: